EN TH
EN TH
Edit Template
นโยบาย / ความยั่งยืนด้านทรัพยากรมนุษย์ (SDG)

นโยบาย / ความยั่งยืนด้านทรัพยากรมนุษย์ (SDG)

นโยบาย

นโยบายการบริหารงานบุคคล 

           เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของล้นเกล้าสองรัชกาลที่ต้องการให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลักเฉลิมพระนครแห่งกรุงสยาม หรือเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของชาติ จะปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง (High Performance Organization) ดังนั้น กระบวนการบริหาร จัดการด้านงานบุคคล จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนจากเดิมที่เป็นงานเชิงรับ มาเป็นงานเชิงรุกที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมากขึ้น ระบบบริหารงานบุคคลต้องเป็นระบบที่สามารถคัดสรรบุคคลที่ดี มีคุณภาพเข้ามาทำงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ มีระบบค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถ ของบุคลากร มีกลไกที่วางเส้นทางสู่ความก้าวหน้าในอาชีพให้กับบุคลากร สามารถดูแล รักษาและพัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถและค่านิยมหลักที่สอดคล้องกับ ความต้องการ และความท้าทายของมหาวิทยาลัยในแต่ละช่วงเวลา ในขณะเดียวกัน บุคลากรมีความสุขกับการทำงาน และสามารถสร้างคุณค่าให้กับมหาวิทยาลัย ได้อย่างเหมาะสม 

นโยบายด้านการวางแผนอัตรากำลังบุคลากร

          ตรากำลังในแต่ละส่วนงานเป็นตัวเลขที่มีพลวัต สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็นอันเกิดจากการขยายพันธกิจหรือการลดกิจกรรมที่หมดความจำเป็นลง อัตรากำลังที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้กับส่วนงานในแต่ละช่วงเวลาเป็นตัวเลขที่พิจารณาจากความจำเป็นของส่วนงานในช่วงเวลานั้นๆ ดังนั้น เพื่อให้การวางอัตรากำลัง มีความเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในอนาคตการดำเนินการทบทวนอัตรากำลังจะมีการดำเนินการด้วยความถี่ที่สูงขึ้น

          อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการวางรากฐานการกำหนดอัตรากำลัง โดยเฉพาะในส่วนของสายปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยกำลังทำการประเมินอัตรากำลังสายปฏิบัติการ เพื่อให้ทราบสถานภาพปัจจุบันของอัตรากำลังที่เป็นอยู่ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร และนำผลที่ได้จากการประเมินมาใช้ในการกำหนดจำนวนบุคลากรที่เหมาะสม ในแต่ละส่วนงานต่อไป และกำลังวางเกณฑ์เพื่อใช้ในการกำหนดอัตรากำลังสำหรับสายวิชาการ อาทิเช่น สัดส่วนนิสิตต่ออาจารย์ ผลผลิตทางวิชาการต่ออาจารย์ งบประมาณด้านบุคคลต่อรายได้ เป็นต้น 

นโยบายด้านการคัดเลือกและสรรหาบุคลากร 

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะพัฒนาระบบการคัดเลือกและสรรหาบุคลากรที่มีมาตรฐานโดยจัดให้มีกระบวนการทดสอบความรู้และทักษะของผู้สนใจสมัครเข้าทำงานในมหาวิทยาลัย อาทิ เช่น การทดสอบวัดความถนัด การทดสอบทัศนคติ การทดสอบด้านภาษา เป็นต้น สำหรับการคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น จะให้ความสำคัญกับประวัติการทำงานและประสบการณ์ โดยลดความสำคัญของคุณวุฒิแรกเข้าของบุคคลนั้น มหาวิทยาลัยจะทบทวนการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งงาน เนื้อหาหน้าที่ความรับผิดชอบในงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรคนหนึ่งมีความสามารถในการทำงานที่หลากหลายขึ้น รวมถึง การนำเรื่องสมรรถนะในการทำงานและการบริหารจัดการมาใช้ในการคัดเลือกและสรรหาบุคลากรเข้าสู่แต่ละตำแหน่งตามความเหมาะสม 

นโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

           จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำแนวคิดการบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยใช้สมรรถนะเกี่ยวกับงานและการบริหารจัดการมาใช้ในการพัฒนาบุคลากร โดยจะปรับปรุง ระบบการพัฒนาบุคคลเพื่อให้กระบวนการพัฒนาบุคลากร สามารถเจาะลึกลงถึงการพัฒนาในระดับรายบุคคล การจัดหลักสูตรเพื่อการอบรมและพัฒนาบุคลากร จะให้ครอบคลุมทั้งเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง ทักษะหรือเครื่องมือใหม่ในการทำงาน และให้ครอบคลุมประเด็นจรรยาบรรณ จริยธรรมในการทำงาน เพื่อเตรียมบุคลากร ให้พร้อมรับต่อความท้าทายของมหาวิทยาลัย 

นโยบายด้านการประเมินผลการปฏิบัติงาน 

           จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำระบบการจัดทำข้อตกลงล่วงหน้ามาใช้ในการมอบหมายงาน ติดตามงานและประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยการประเมิน ต้องมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ อาทิ เช่น จำนวนรายวิชาการสอนที่มีคุณภาพ ผลงานตีพิมพ์ของงานวิจัยหรือหนังสือหรือตำรา จำนวนนิสิตบัณฑิตศึกษา ที่สำเร็จการศึกษา เงินทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอก จำนวนชั่วโมงของงานให้บริการสังคมหรืองานบริหารอย่างมีคุณภาพ เป็นต้น โดยผลผลิตรายบุคคลต้องสอดคล้องกับ ตำแหน่งงานตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด 

          สำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงาน ต้องมีความเที่ยงตรง โปร่งใส และเป็นธรรม โดยจะแบ่งผลการประเมินเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกพิจารณาผลงาน จากเนื้องาน การประเมินดำเนินการโดยนำผลลัพธ์ หรือผลผลิตจากการทำงานมาเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลง ส่วนที่สองพิจารณา จากพฤติกรรมของผู้ถูกประเมิน การประเมินพฤติกรรมอาจทำได้ โดยการกำหนดกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เป็นผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่ถูกประเมิน มาเป็นผู้ทำการประเมินบุคคลดังกล่าว ซึ่งอาจประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานทั้งในกลุ่มงานเดียวกันและต่างกลุ่มงานกัน รวมถึงผู้ใต้บังคับบัญชา 

นโยบายด้านความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีตำแหน่งงานจำนวนมากหลากหลายอาชีพและระดับความรู้ความสามารถ ดังนั้น การวางระบบงาน จะวางให้เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายบุคลากรในระหว่างกลุ่มงานและในระหว่างส่วนงาน เพื่อให้บุคลากรมีความเจริญก้าวหน้าในงานได้ ตามสมรรถนะ และขีดความสามารถของตน โดยกระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการโดยพิจารณาจากประวัติการปฏิบัติงาน ผลงานที่ผ่านมา การพัฒนาตนเองและสมรรถนะในด้านต่างๆ ของบุคคลคนนั้น บุคลากรสายวิชาการสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามตำแหน่งวิชาการ สำหรับบุคลากรสายปฏิบัติการสามารถเจริญก้าวหน้าการทำงานได้ ตามตำแหน่งชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ หรือตามตำแหน่งบริหาร ระดับต้น กลาง สูง 

นโยบายด้านสวัสดิการและบุคลากรสัมพันธ์

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีแนวคิดการจัดสวัสดิการที่หลายหลากให้ครอบคลุมความจำเป็นที่แตกต่างกันของบุคลากรแต่ละกลุ่ม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ที่ใกล้เคียงกัน โดยสวัสดิการดังกล่าวครอบคลุม การดูแลด้านสุขภาพ สภาพการทำงาน การเกื้อหนุนด้านอื่นๆ เช่น ที่พักอาศัย การศึกษาของบุตร และการให้บริการอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรมีความผูกพันในงาน มีความสุขในการทำงานและสามารถทำงานให้มหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่ 

นโยบายด้านค่าตอบแทน

          คณะกรรมการนโยบายบุคลากรได้วางแนวทางไว้ว่า การกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรของมหาวิทยาลัย ต้องมีความยุติธรรมภายในองค์กร มีความทัดเทียม กับตลาดแรงงาน และองค์กรมีความสามารถในการจ่ายค่าตอบแทนได้ สำหรับการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรของมหาวิทยาลัย จะนำหลักการจ่ายค่าตอบแทน ตามค่างานและผลสัมฤทธิ์มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารค่าตอบแทน มหาวิทยาลัยจะกำหนดกระบอกเงินเดือนขึ้น โดยการขึ้นเงินเดือนรายบุคคล จะคิดเงินเพิ่มเป็นร้อยละจากค่ากลางของกระบอกเงินเดือนนั้นๆ และการเพิ่มค่าตอบแทนประจำปีจะพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงงบประมาณ สำหรับค่าตอบแทนมาจากการรวมเงินจากงบประมาณเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้กับงบประมาณเงินรายได้ที่มหาวิทยาลัยจัดเก็บจากกิจกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน 

นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นโยบายเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตชาวจุฬาฯ         

นโยบายความเท่าเทียมด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์

ความยั่งยืนด้านทรัพยากรมนุษย์ (SDG)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีวัตถุประสงค์ที่จะบุกเบิก แสวงหา และเป็นคลังความรู้ ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์ รวมทั้งพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ดังนั้นจุฬาฯ จึงจัดให้มีการพัฒนาทางวิชาการและการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องโดยการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ โครงการฝึกอบรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดแก่บุคลากร ทั้งยังให้ความสำคัญกับสุขภาพของบุคลากร

เพราะจุฬาฯ ตระหนักว่า คุณภาพชีวิตของบุคลากรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องจากบุคลากรคือแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการนำพามหาวิทยาลัยให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีส่วนงานภายในทั้งหมด 40 ส่วนงาน ตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย ดังนั้น เราจึงมีบุคลากรที่ มีความหลากหลายศาสนา และวัฒนธรรม ที่ร่วมสร้างผลผลิตให้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์แก่สังคม

จำนวนพนักงานในปี 2024

8,009 คน

59.83%

ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

เป็นเพศหญิง

99.74%

ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

เป็นพนักงานประจำที่มีสัญญา มากกว่า 2 ปี ขึ้นไป

หลักสูตรการเรียนรู้และโครงการฝึกอบรมที่จุฬาฯ จัดทำขึ้นมีมากมายตามแนวความรู้หลายศาสตร์ หลากแขนงตามความสนใจของบุคลากร เพื่อส่งเสริมให้เกิด การเรียนรู้  มุ่งพัฒนาคุณภาพและความเชี่ยวชาญที่ต้องปรับให้ทันกับสถาการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะในการทำงาน (Learn@Home) หรือการพัฒนาความรู้ในงาน (HR  e-Learning) ซึ่งเพื่อให้เหมาะสมกับสถารณ์ในปัจจุบัน จึงมีการจัดเป็นบทเรียนออนไลน์สำหรับบุคลากรทุกภาคส่วนที่มีความสนใจ และการพัฒนาทักษะ 5 ด้าน ซึ่งสามารถอบรมได้ทาง CHULA MOOC หรือแม้กระทั่งโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น หลักสูตรการเตรียมตัวและการปฏิบัติตนหลังเกษียณ และการวางแผนการเงินเมื่อก้าวสู่โลกการทำงาน

เมื่อวันที่ 15 – 19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ และ โรงแรมอมารี พัทยา จ.ชลบุรี สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุฬาฯ ได้จัดโครงการปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่และนักวิจัยใหม่จุฬาฯ รุ่นที่ 29 เพื่อให้คณาจารย์และนักวิจัยใหม่ของจุฬาฯ มีความเข้าใจยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย บทบาท และแนวปฏิบัติต่างๆ และส่งเสริมให้คณาจารย์และนักวิจัยมีความก้าวหน้าด้านวิชาการ พร้อมรับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ในรุ่นนี้มีอาจารย์ใหม่และนักวิจัยใหม่เข้าร่วมโครงการจำนวน 64 คน โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนอธิการบดี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการและบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Spirit of Chula” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร และมีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ อาทิเช่น ทักษะการทำงานศตวรรษที่ 21 กับการสร้างบัณฑิตจุฬาฯ โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และเสริมสร้างเครือข่ายอาจารย์ใหม่ โดย ศ.ดร.คณพล จันทน์หอม ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี  รวมถึงกิจกรรมเสริมสร้าง Team Building
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ ได้จัดโครงการปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ สายปฏิบัติการ รุ่นที่ 98 หลักสูตร “CHULA Newcomers เติมหัวใจให้เป็นจุฬาฯ” ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร (หอสมุดกลาง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนอธิการบดี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ และเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ“ทักษะแห่งอนาคต กับพลังแห่งความสำเร็จของมหาวิทยาลัย”สำหรับโครงการปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ สายปฏิบัติการ รุ่นที่ 98 หลักสูตร CHULA Newcomers เติมหัวใจให้เป็นจุฬาฯ นั้น จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5 – 9 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร (หอสมุดกลาง) และเดอะ ไทด์ รีสอร์ท บางแสน จังหวัดชลบุรี เพื่อปลูกฝังค่านิยมจุฬาฯ เสริมสร้างเจตคติ และสมรรถนะที่สอดคล้องกับความคาดหวังของมหาวิทยาลัย และเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจในพันธกิจของมหาวิทยาลัย รวมถึงให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้พื้นฐานเพียงพอต่อการปฏิบัติงานในองค์กร เสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีอันนำไปสู่การสร้างความร่วมมือภายในมหาวิทยาลัยต่อไป และพร้อมก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในมหาวิทยาลัยอย่างสมบูรณ์ โดยในรุ่นนี้มีบุคลากรใหม่สายปฏิบัติการเข้าร่วมโครงการจำนวน 90 คน
นอกจากการเรียนรู้แล้ว สุขภาพ ของบุคลากรก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จุฬาฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤต Covid-19 มหาวิทยาลัยยังคงเปิดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 (เข็มกระตุ้น) ให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังส่งเสริมสุขภาวะทางกายซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) และสร้างแรงกระตุ้นให้บุคลากรใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง โดยการจัดกิจกรรมโครงการ ชาวจุฬาฯ สง่างาม ที่เปิดคอร์สสอนทักษะกีฬาให้แก่บุคลากร เช่น เดิน, วิ่ง, เทนนิส, กอล์ฟ, ซุมบ้า, โยคะ, ว่ายน้ำ และอื่น ๆ ทั้งนี้บุคลากรสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมที่ตนเองสนใจได้ฟรี (แม้ไม่มีต้องมีอุปกรณ์ก็สามารถมาเรียนได้)
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Website หรือ Fanpage ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การแข่งขันกีฬาภายในของบุคลากรจุฬาฯ ครั้งที่ 44 ซึ่งได้ดำเนินการจัดการแข่งขันขึ้นในระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2567 กับกีฬาทั้งหมด 21 ชนิดกีฬา โดยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ ได้ร่วมมือกันจัดพิธีเปิด – ปิดการแข่งขันกีฬาบุคลากรจุฬาฯ ครั้งที่ 44 โดยมีพิธีจุดไฟฤกษ์ ณ ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า โดยมี ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต เป็นประธานในพิธี จากนั้นขบวนวิ่งคบเพลิงจากคณะ หน่วยงานต่างๆ จะวิ่งไปยังอาคารเฉลิมราชสุดากีฬาสถาน (CU Sports Complex) ในครั้งนี้มีบุคลากรจุฬาฯ จากหลากหลายคณะ/ส่วนงาน มาร่วมเดินขบวนพาเหรดในธีม “SDG3 Good Health and Well-Being” โดย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีการประกวดกองเชียร์การแสดงของหน่วยงานต่างๆ การแข่งขันกีฬาสี 6 สี พิธีมอบรางวัลแก่คณะ/หน่วยงานที่ชนะการประกวดขบวนพาเหรด ผู้ถือป้าย การแสดง เชียร์ลีดเดอร์ และผู้บริหารและบุคลากรรับประทานอาหารร่วมกัน ณ ลานตฤณชัย
รวมทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้ชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ก้าวไกล สะดวกสบาย และสอดคล้องกับรูปแบบการทำงานแบบ Co-Working Space รวมทั้ง Work from Home มากยิ่งขึ้น ด้วยความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับธนาคารกสิกรไทย สร้างและออกแบบ CU NEX Staff แอปพลิเคชันที่พรั่งพร้อมด้วยฟังก์ชันต่าง ๆ เชื่อมโยงข้อมูลความรู้และงานบริการต่าง ๆ ไว้ในมือถือ เติมเต็มและตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคดิจิทัล โดยประชาคมจุฬาฯ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้ไปใช้งานจริงแล้วตั้งแต่ 18 พฤษภาคม 2563 และทางจุฬาฯ ยังคงพัฒนาแอพลิเคชันอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ชีวิตในการทำงานที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นสำหรับประชาคมชาวจุฬาฯ ต่อไป
นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังให้ความสำคัญกับ สภาพแวดล้อมและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกัน เพราะสภาพแวดล้อมและสิ่งแวดล้อม ที่ดีเป็นหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรให้ดี และทำให้การทำงานของบุคลากรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมหาวิทยาลัยและชาวจุฬาฯ ได้ร่วมมือกันสร้างพื้นที่สีเขียวกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ให้ดำรงไว้ซึ่งความเป็น “อุทยานจามจุรี” ที่ยั่งยืน อาทิเช่น อุทยาน  100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รถจักรยาน, รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และ CU Shuttle Bus ซึ่งเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ที่มีไว้คอยบริการบุคลากรของจุฬาฯ ในการเดินทางรอบมหาวิทยาลัย

อัตราค่าตอบแทน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคลากร จึงมีการจ้างงานด้วยค่าแรงที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการดำรงชีพในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองโดยค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯ ตามกฎหมายแรงงานมีอัตราค่าจ้าง 363 บาท/วัน หรือ 10,890 บาท/เดือน (พื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ ณ 1 พ.ค. 67) ในขณะที่ค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยของจุฬาฯ มีอัตราค่าจ้างเริ่มต้นที่ 19,500 บาท/เดือน
ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯ และอัตราค่าจ้างขั้นเริ่มต้นของจุฬาฯ จะพบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ้างบุคลากรด้วยค่าจ้างที่มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเกือบ  2  เท่า   แสดงให้เห็นว่า  มหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่จ้างบุคลากรด้วยค่าจ้างที่   ‘พ้น’   จากค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น ทว่ายังคำนึงถึงค่าครองชีพของบุคลากรในการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง  จึงมีการจ้างพนักงานด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในระดับที่ ‘เหมาะสมและเพียงพอ’  เพื่อให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้จัดสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับบุคลากรในรูปแบบที่หลายหลาย และครอบคลุมต่อการดำรงชีพ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านการเงิน การศึกษา ที่พัก และด้านอื่น ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้    การจ่ายอัตราค่าจ้างหรือสวัสดิการนั้น    เป็นไปตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    ว่าด้วยเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย กำหนดให้การพิจารณาเงินเดือนแรกบรรจุพิจารณาจากปัจจุบันต่าง  ๆ  เช่น  คุณวุฒิ  ทักษะ  ความรู้ความสามารถ  ประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่บรรจุและแต่งตั้ง สาขาความขาดแคลน และความต้องการของตลาดแรงงาน โดยไม่นำเรื่อง  เชื้อชาติ ศาสนา อายุ หรือความแตกต่างทางเพศ  มาเป็นตัวกำหนดในการพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายความเท่าเทียมด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์  ซึ่งมหาวิทยาลัยมีค่าเฉลี่ยช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ ดังนี้
รายงานช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ (Gender Pay Gap Report) ปี 2024 >> (Click)

สวัสดิการและสิทธิประโยชน์

มหาวิทยาลัยมีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้

การจ้างงานตามสหภาพแรงงาน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจ้างงานตามสหภาพแรงงาน ซึ่งหมายความถึงการยอมรับในสหภาพแรงงานและสิทธิแรงงาน จึงมีการจัดตั้งสภาคณาจารย์และมีเครือข่ายวิชาชีพ เพื่อช่วยเหลือและเป็นกระบอกเสียงให้พนักงาน นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมเกี่ยวกับการจ้างงานตามสหภาพแรงงาน (Employment Practice Unions) ซึ้งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของ The Times Higher Education (THE) Impact Rankings ที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 8 คือ งานที่เหมาะสมและเศรษฐกิจที่เติบโต (Decent Work and Economic Growth)

สภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สภาคณาจารย์ คือตัวแทนของคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ผ่านการเลือกตั้งและจัดตั้งขึ้นสำหรับบุคลากรสายวิชาการของจุฬาฯ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนคณาจารย์ทั้งปวงและเป็นสื่อกลางระหว่างสภาคณาจารย์กับคณาจารย์เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนประสานงานด้วยความร่วมมืออันดียิ่งกับฝ่ายบริหาร คณาจารย์ นิสิต ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สโมสรอาจารย์ และสมาคมนิสิตเก่าฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีในการที่จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยโดยส่วนรวม อันจะเป็นผลดีต่อสังคมและประเทศชาติ

สามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมของสภาคณาจารย์ได้ทาง http://www.senate.chula.ac.th/wordpress/

 
 

เครือข่ายวิชาชีพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนเครือข่ายวิชาชีพถูกจัดตั้งขึ้นสำหรับบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสายปฏิบัติการ ประกอบไปด้วย 18 เครือข่าย ดังนี้

1. วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง ด้านบริหาร
2. วิชาชีพการเงิน
3. วิชาชีพการบัญชี
4. วิชาชีพการพัสดุ
5. วิชาชีพแผนและงบประมาณ
6. วิชาชีพบริการวิจัยและบริการวิชาการ
7. วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง ด้านวิชาการ
8. วิชาชีพวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ
9. วิชาชีพบุคคล
10. วิชาชีพสารบรรณ
11. วิชาชีพอาคารสถานที่และยานพาหนะ
12. วิชาชีพโสตทัศนศึกษา
13. วิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ
14. วิชาชีพห้องสมุด
15. วิชาชีพประชาสัมพันธ์
16. วิชาชีพทะเบียน
17. วิชาชีพกิจการนิสิต
18. วิชาชีพบริหารคุณภาพองค์กร

ถึงแม้เครือข่ายวิชาชีพจะไม่ได้เป็นตัวแทนของบุคลากรสายปฏิบัติการโดยตรงดังเช่นสภาคณาจารย์ แต่ก็มีหน้าที่คล้ายคลึงกัน อาทิเช่น สร้างเครือข่ายการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรจุฬาฯ สายปฏิบัติการในแต่ละวิชาชีพให้มีการสื่อข้อความอย่างรวดเร็วและทั่วถึง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างความเข้าใจในนโยบาย ระเบียบแนวปฏิบัติ ปัญหาอุปสรรค และวิธีการแก้ไขที่เกี่ยวข้องในแต่ละวิชาชีพ เพื่อให้ความช่วยเหลือบุคลากรในด้านต่างๆ

 
 
       เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2567 คณะกรรมการเครือข่ายบุคคลแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพ สายปฏิบัติการ วิชาชีพบุคคล และ สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการจัดการประชุมสมาชิกเครือข่ายวิชาชีพบุคคล ประจำปี 2567 และพัฒนาความรู้และทักษะในวิชาชีพ Technical Essential Courses เรื่อง AI Opportunity in HR สำหรับ CU-HR ซึ่งการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นในรูปแบบ On-site ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ (หอสมุดกลาง) และรูปแบบ Online ผ่านโปรแกรม Zoom ตั้งแต่เวลา 8.00 – 14.30 น. โดยมีศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานและกล่าวทักทายสมาชิกเครือข่ายวิชาชีพบุคคล และได้รับเกียรติจาก นายพิชชากร จันติ๊บแจ่ม กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ COO of Connext AI เป็นวิทยากรอบรมในหัวข้อ “AI Opportunity in HR สำหรับ CU-HR” ในช่วงเช้า ในขณะที่ช่วงบ่ายได้มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้สมาชิกรับทราบนโยบายการเปลี่ยนแปลงการบริหารทรัพยากรมนุษย์และแลกเปลี่ยนการดำเนินงานบุคคลที่ผ่านมา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.hrm.chula.ac.th/newhrm/post-06092024-20/

เมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ ได้จัด กิจกรรมงาน “Chula Inter Staff Meet Up (in Songkran Festival)” ณ ลานพระศรีมหาโพธิ์ บริเวณหน้าอาคารจามจุรี 4 เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศ สำหรับบุคลากรชาวต่างประเทศในมหาวิทยาลัย สอดคล้องกับเป้าหมายด้านกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย ในการสร้างภาพลักษณ์ระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้บุคลากรต่างส่วนงานได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเสริมสร้างความผูกพันของพนักงาน ผ่านงานเทศกาลสงกรานต์ประจำปี โดยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากรองอธิการบดี (นางสุภาพร จันทร์จำเริญ) ในการกล่าวเปิดงาน และท่านอธิการบดี (ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์) ในการกล่าวอวยพรกับกลุ่มบุคลากร และเป็นประธานในพิธีรดน้ำดำหัว โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ทั้งบุคลากรชาวต่างชาติและครอบครัว และบุคลากรชาวไทย
กิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วยการเสวนาอัพเดทข้อมูลข่าวสารสำหรับบุคลากรชาวต่างชาติ โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยอธิการบดี (นายโภไคย ศรีรัตโนภาส) ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ (ดร.ราม ปิยะเกตุ) และทีม HR จากสำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ นำโดยผู้ช่วยอธิการบดี (รศ.ดร.พัชสิรี ชมภูคำ) ผู้อำนวยการสำนักฯ ผู้อำนวยการฝ่ายฯ และเจ้าหน้าที่ ร่วมพูดคุยให้ข้อมูลในช่วง “Meet & Greet with Inter Staff” รวมไปถึง “กิจกรรมประเพณีรดน้ำดำหัว ผู้บริหารจุฬาฯ” ซึ่งนับได้ว่าเป็นไฮไลท์ของการจัดงานครั้งนี้ โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรชาวต่างชาติได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย และได้มีโอกาสใกล้ชิดร่วมพูดคุยกับผู้บริหารของจุฬาฯ ได้แก่ ท่านอธิการบดี (ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์) รองอธิการบดี ด้านบริหารทั่วไปและศิลปวัฒนธรรม (ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา) รองอธิการบดีด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร (นางสุภาพร จันทร์จำเริญ) และผู้อำนวยการสำนักงานแผนงาน C2F (รศ.ภก.ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์) นอกจากนี้ ยังมี “การแสดงรำกลองยาวและดนตรีไทย” จากนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมที่งดงามของไทย และปิดท้ายด้วยบรรยากาศของกิจกรรมในธีมงานวัดไทย ประกอบด้วย เวทีดนตรีจากวง Arai Band ซุ้มกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยอย่าง การร้อยมาลัย การเดินกะลา เกมปาโป่ง และซุ้มอาหาร ขนมไทย เช่น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ส้มตำ-ไก่ย่าง เมี่ยงคำ ขนมครก ขนมชั้น และขนมต้ม เพื่อสร้างบรรยากาศเทศกาลงานสงกรานต์ไทยให้แก่บุคลากรชาวต่างชาติได้เรียนรู้
สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จัดกิจกรรม “Inter-Staff Connecting Activities” สำหรับบุคลากรชาวต่างชาติ เมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา เวลา 8.00 – 15.00 น. โดยเริ่มการลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมและพิธีเปิดกิจกรรม ณ เรือนจุฬานฤมิตจุฬาฯ โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมครั้งนี้ และกิจกรรมภายนอกมหาวิทยาลัย ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) และพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพมหานคร  โดยกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสในการส่งเสริมให้บุคลากรชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโอกาสได้ทำความรู้จัก และสานต่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศทางการเรียนรู้หลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนระบบในการดำเนินการเพื่อจัดการข้อมูลต่าง ๆ เช่น การสร้างระบบ  CU Adjunct ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศเพื่อรองรับอาจารย์พิเศษและอาจารย์ชาวต่างชาติ ที่รวบรวมข้อมูลที่จำเป็น วิธีการ แบบฟอร์มต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เครือข่ายบุคคลและพนักงานสะดวกสบายในการดูแลอาจารย์พิเศษและอาจารย์ชาวต่างชาติ เป็นต้น

สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์พร้อมรับแนวคิดและความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้รับจากการประชุมเครือข่ายในทุก ๆ ครั้ง มาพิจารณาและออกแบบระบบการดูแลบุคลากรต่อไปในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรทุกคน เพื่อได้รับความสะดวกสบายในการทำงานกับจุฬาฯ

การว่าจ้างและการดูแล Outsource

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนโยบายการจ้างเหมาบริการ (Outsource) เพื่อทดแทนบางตำแหน่งกลุ่มบริการ (P9) ซึ่งประกอบไปด้วยหลายกลุ่ม เช่น แม่บ้าน พนักงานดูแลสวน พนักงานดูแลและทำความสะอาดอาคาร ทางเท้า พื้น และพนักงานดูแลระบบอาคาร เป็นต้น ทางจุฬาฯได้จัดทำ ร่างขอบเขตงาน  (Term of  reference : TOR ) กับทางผู้รับเหมา (ผู้รับจ้าง) กำหนดให้ดูแลพนักงานกลุ่มดังกล่าว โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงานจ้างเหมาบริการ (Outsource) ให้ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมและการจ่ายค่าตอบแทนเหมาะสม, การได้รับค่าจ้างตรงเวลา, สวัสดิการด้านประกัน, การจัดหาชุดยูนิฟอร์มและอุปกรณ์ในการทำงานอย่างเหมาะสมเพียงพอ, รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาตนเอง
และเนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด Covid – 19 ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดให้ พนักงาน Outsource ของมหาวิทยาลัย ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ได้รับสวัสดิการในการฉีดวัคซีนป้องกันโรค Covid – 19
มหาวิทยาลัยได้จัดฉีดวัคซีนป้องกันโรค Covid – 19 เข็มแรกให้พนักงาน Outsource คนไทยไปในวันที่ 24 – 25 พฤษภาคม 2564 และคนต่างด้าววันที่ 28 พฤษภาคม 2564 และในวันที่ 22 และ 25 ตุลาคม 2564 จะมีการจัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 3  (Booster Shot)  ให้กับพนักงาน Outsource ดังนี้
  • แม่บ้าน 4 สัญญา จำนวน 187 คน
  • พนักงานดูแลสวน สนาม และทำความสะอาดสระ อาคาร ทางเท้า พื้น จำนวน 82 คน
  • พนักงานจ้างดูแลระบบอาคาร 7 อาคาร จำนวน 132 คน
  • พนักงานรับเหมาก่อสร้างภายในจุฬาฯ จำนวนประมาณ 150 คน
ดังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะมิใช่พนักงานประจำ แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ตระหนักในความสำคัญของพนักงาน Outsource และจัดให้มีสวัสดิการเพื่อพนักงานกลุ่มนี้ เพื่อให้พนักงานได้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี

ขีดจำกัดที่ไร้ขีดจำกัด

ในวันที่ร่างกายที่เป็นของเรากลับไม่เป็นดั่งใจ จากดวงตาที่เคยมองเห็นแม้แต่ตัวอักษรที่เล็กที่สุดบนหน้าหนังสือกลับมืดสนิท หรือแม้แต่ขาที่เคยพาเราไปทุกที่ กลับกลายเป็นสิ่งที่เพิ่มความยากลำบากในการใช้ชีวิต เราจะทำอย่างไร หรือสงสัยไหมว่าพวกเขาเหล่านั้นใช้ชีวิตกันอย่างไร… แต่ในความลำบากของร่างกายนั้น หากมีใครสักคน หรือที่ไหนสักแห่งเห็นคุณค่าของพวกเขา ให้พวกเขาได้มีโอกาสใช้ความสามารถที่มีสร้างประโยชน์ หรือพัฒนาสิ่งๆต่างๆ ที่เกิดประโยชน์กับบุคคล หรือสถานที่นั้นๆ พวกเขาคงจะรู้สึกภาคภูมิใจ และมีความหวังในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อไป

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ได้เห็นความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ จึงได้มีโครงการจ้างงานผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพ หรือผู้พิการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่าอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทั้งที่เป็นบุคลากรภายในและบุคลภายนอก และเพื่อเป็นการส่งต่อพลังบวกต่อผู้พิการที่ขาดความมั่นใจในคุณค่าหรือความสามารถของตนเอง
สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขอเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานของพนักงานมหาวิทยาลัยผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพ ซึ่งสอดคล้องกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยในที่นี้จะกล่าวถึง เป้าหมายที่ 8  “การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ รวมทั้งการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ซึ่งหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสำเร็จนี้ ได้แก่ บรรลุการจ้างงานเต็มที่มีอย่างมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและ ผู้มีภาวะทุพพลภาพ (ข้อมูลอ้างอิงจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

คุณวีกิจ คูหะมณี

( เจ้าหน้าที่สำนักงาน ประกันคุณภาพควบสารบรรณ คณะจิตวิทยา ) ผู้ที่มีระยะการมองเห็นแคบตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งถือเป็นผู้มีภาวะทุพพลภาพประเภทที่ 1 หรือความพิการทางการมองเห็นผู้ที่ได้ร่วมงานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมายาวนานถึง 8 ปี คุณวีกิจเล่าให้ฟังว่า การมองเห็นของเขาเปรียบเสมือนการมองผ่านหลอดดูดน้ำที่เล็กและแคบ มองเห็นได้เฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้คุณวีกิจได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัทเอกชนก่อนที่จะสมัครงานที่จุฬาฯ แต่เพราะเขาเลือกที่จะให้โอกาสตนเองได้ลองเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสภาพแวดล้อม และสังคมใหม่ๆ เพื่อการเติบโตทางอาชีพ จึงทำให้เขามาถึงจุดนี้ คุณวีกิจยอมรับว่า ระยะการมองเห็นที่แคบนี้ทำให้เขาต้องใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงใช้ระยะเวลาในการทำงานที่มากกว่าคนปกติ แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคที่แท้จริง หากแต่เป็นการปิดกั้นโอกาสของตนเองต่างหาก เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เราต้องลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอเฉกเช่นคนปกติทั่วไป มากไปกว่านั้นเขาโชคดีที่มีเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานที่เข้าใจในข้อจำกัดนี้ และยังเปิดโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ตนเอง ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติงานในฐานะบุคลากรมหาวิทยาลัยคนหนึ่งอย่างเท่าเทียม คุณวีกิจทิ้งท้ายฝากถึงผู้พิการท่านอื่นๆ ว่า โอกาสมีอยู่ทุกที่ หมั่นสำรวจหาสิ่งที่เราชอบ แล้วหมั่นฝึกฝนสิ่งนั้น จนเกิดเป็นความสามารถและความชำนาญ เมื่อนั้นเราย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเช่นเดียวกัน ส่วนตัวเขาเอง แม้ในอนาคตอาจจะมีโอกาสที่จะมองไม่เห็น 100%เนื่องจากระยะการมองเห็นที่แคบลง แต่สิ่งหนึ่งที่เขายังคงจะทำเหมือนเดิม นั่นคือ การไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้ตนเองอยู่เสมอ สุดท้ายนี้ “ ไม่ว่าระยะการมองเห็นจะแคบเพียงใด แต่มุมมองและวิสัยทัศน์ต้องกว้างให้มากที่สุด ”

คุณวิน วิเวกพรมราช

( พนักงานดูแลสถานที่ ประจำคณะรัฐศาสตร์ ) ผู้มีภาวะทุพพลภาพประเภทที่ 3 หรือความพิการทางการเคลื่อนไหวทางร่างกาย โดยคุณวินได้ร่วมงานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนานมากถึง 30 ปี และจะเกษียณในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ คุณวินเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนทำงานในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ก่อนที่จะย้ายมาเป็นพนักงานดูแลสถานที่ จนเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้วคุณวินมีอาการป่วยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก จากภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ไม่สามารถควบคุมการใช้งานของร่างกายได้เหมือนเคย มีบ้างที่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัว ซึ่งมีบางครั้งที่คุณวินรู้สึกอึดอัดที่ร่างกายที่เป็นของเราไม่เป็นดั่งใจ แต่อย่างไรก็ตามคุณวินขอขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้โอกาส และใส่ใจในการปรับเปลี่ยนภาระงานให้เข้ากับข้อจำกัดทางด้านร่างกายที่เกิดขึ้น ทำให้คุณวินยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบุคลากรคนหนึ่งได้อย่างเต็มความสามารถ ก่อนจากกันคุณวินฝากให้กำลังใจผู้พิการทุกท่านไว้ว่า “ ชีวิตคือความไม่แน่นอน ไม่ว่าวันนี้เราเป็นอย่างไร ใช่ว่าในวันข้างหน้าเราจะยังคงเป็นเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอเพียงแต่ให้เราเข็มแข็ง สู้ต่อไปตราบใดที่ยังมีลมหายใจ  
สุดท้ายนี้ไม่ว่าท่านจะมีข้อจำกัดใด ไม่ว่าทั้งจากร่างกายหรือจิตใจ ขอเพียงแต่จงกล้าที่จะให้โอกาสให้ตนเอง ในการแสดงความสามารถที่ซ่อนอยู่ภายใต้ขีดจำกัดนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอเป็นพื้นที่ในการแสดงศักยภาพที่ไร้ซึ่งขีดจำกัด พร้อมต้อนรับทุกท่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง มาร่วมกันสร้างอนาคต และผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวไปสู่ความเป็นนานาชาติ อย่างเต็มภาคภูมิ

ขจัดอุปสรรคต่อการแสดงขีดความสามารถ อาคารที่เอื้อต่อคนพิการและทุกคน

อาคารที่เอื้อต่อคนพิการและทุกคน

เพราะผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพหรือผู้พิการหวังที่จะสามารถเดินทางหรือการใช้ชีวิตในการทำงานได้อย่างสะดวก  ซึ่งทางเดินสาธารณะหรืออาคารต่าง  ๆ  ส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่รองรับหรือเอื้อประโยชน์  ผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพหรือผู้พิการจักต้องต้องพยายามดิ้นรนให้ตัวเองกระโดดขึ้นมามีคุณภาพชีวิตทัดเทียมกับคนอื่น  จากงานวิจัย   “หลักการออกแบบเพื่อ  ทุกคน  Universal  Design  ปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน”  โดย  รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์  จารุทัศน์  หัวหน้าภาควิชาเคหการ  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้กล่าวถึง  Universal  Design  หรือ  การออกแบบเพื่อทุกคน  ว่าเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสภาพแวดล้อม  และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทุกคนทุก  ๆ  กลุ่มวัย  ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ  คนปกติ  และผู้พิการ  สร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายใจ

 
 
ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เห็นความสำคัญกับการจัดและดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพหรือผู้พิการ  ทั้งที่เป็นบุคลากรภายในไม่ว่าจะเป็นนิสิตหรือบุคลากร  รวมทั้งบุคลภายนอก  เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างสะดวกสบาย  โดยเริ่มต้นจากอาคารจามจุรี  5 ที่ได้รับการรองรับว่าเป็น อาคารที่เอื้อต่อคนพิการ พ.ศ. 2563 (รางวัลชมเชย) จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์

หอพักจุฬานิเวศน์ก่อนปรับปรุง

หอพักจุฬานิเวศน์หลังปรับปรุง

และการปรับปรุงหอพักจุฬานิเวศน์ เนื่องจากอาคารเก่าผิดกฎมายซึ่งอาคารที่สร้างมานานจะไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัย และ ไม่มีบันไดหนีไฟ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร

ทั้งนี้ทางจุฬาฯยังไม่หยุดการพัฒนาและปรับปรุงอาคารเพื่อเอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพหรือผู้พิการเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและความใส่ใจในการเรียน, การทำงาน และการติดต่อกับจุฬาฯ ต่อไปในอนาคต

(ผังทางลาดและการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ ณ ปัจจุบัน ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรในทุกภาคส่วน และส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย ความเสมอภาค การอยู่ร่วมกัน และได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดให้สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นผู้ดูแลในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับบุคลากรทุกกลุ่ม ดังนั้น หากมีความประสงค์จะแจ้งเรื่องราวต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายสิทธิประโยชน์และการดูแลทรัพยากรมนุษย์ สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ เบอร์โทร 02-218-0263

Disabled Access

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรามีการผลักดันให้ผู้พิการสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เทียบเท่ากับบุคลากรคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของนโยบาย สวัสดิการ รวมไปถึงความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยของ เช่น อาคาร ทางเดิน หรือพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ เราจึงมีการพัฒนาโครงสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยอ้างอิงตามระเบียบและมาตรฐานที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้พิการ โดยเราเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า Disabled Access ซึ่งจะมีอยู่ทั่วมหาวิทยาลัยประกอบไปด้วย ทางข้ามถนน 86 จุด ทางลาดขึ้นทางเท้า 41 จุด จุดต่อเนื่องทางเท้ากับทางข้ามถนน 146 จุด ทางลาดภายในอาคาร 100 แห่ง และห้องน้ำเพื่อผู้พิการภายในอาคารอีก 36 แห่ง ตัวอย่างของสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานภายในมหาวิทยาลัย ลักษณะทางลาดที่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด
  1. ใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่น
  2. พื้นผิวระหว่างพื้นกับทางลาดต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ทำให้สะดุด
  3. ต้องกว้าง 90 เซนติเมตร ขึ้นไป ถ้าเป็นเลนสวนสองทางต้องกว้าง 1.5 เมตร ขึ้นไป
  4. พื้นที่ว่างด้านหน้าของทางลาดต้องเป็นที่ว่าง ยาว 1.5 เมตรขึ้นไป
  5. 5. ทางลาดยาวช่วงละไม่เกิน 6 เมตร แต่ถ้าเกิน 6 เมตรจะต้องมีชานพักยาว 1.5 เมตรขึ้นไป ขั้นระหว่างช่วง
ทางลาดที่ไม่มีผนังกั้น ต้องยกขอบจากพื้น 10 เซนติเมตรขึ้นไป และต้องมีราวจับ หรือราวกันตก ลักษณะของราวกันตก
  1. ทำด้วยวัสดุเรียบ แข็งแรง ไม่เป็นอันตรายต่อการจับ ไม่ลื่น ไม่มีเหลี่ยม
  2. เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร
  3. สูงจากพื้น 75-90 เซนติเมตร (วัดจากพื้นทางลาดจนถึงราวจับด้านบนสุด)
  4. ราวจับฝั่งผนัง ต้องห่างจากผนัง 4 เซนติเมตร ขึ้นไป ผนังบริเวณราวจับจะต้องเรียบ
  5. ราวจับจะต้องยาวต่อเนื่องกัน ถ้าไม่สามารถทำให้ยาวต่อเนื่องกันได้ ต้องมีระยะห่างไม่เกิน 5 เซนติเมตร

ลักษณะห้องน้ำผู้พิการตามมาตรฐาน

1.ต้องมีพื้นที่ว่างเพื่อให้ Wheel Chair หมุนกลับตัวได้ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เมตร ขึ้นไป
2.วัสดุปูพื้นต้องไม่ลื่น และพื้นในห้องน้ำต้องเสมอกับพื้นภายนอก
3.ข้างโถส้วมฝั่งที่ติดผนัง ต้องมีราวจับสำหรับพยุงตัว ทั้งแนวนอน และแนวดิ่ง (ราวทั้งสองอาจจะเป็นราวต่อเนื่องกันก็ได้)

   3.1. ราวแนวนอน ต้องสูง 65-70 เซนติเมตร โดยปลายของราวต้องยื่นออกมาโดยวัดจากหน้าโถส้วมอีก 25-30 เซนติเมตร
   3.2. ราวแนวดิ่ง ยื่นออกมาต่อจากส่วนปลายของราวแนวนอน โดยยาวขึ้นไปจากปลายแนวนอน 60 เซนติเมตร ขึ้นไป

4.ข้างโถส้วมฝั่งที่ไม่ติดผนัง มีราวจับแนวราบ หรือแนวดิ่งแบบพับเก็บได้ โดยเมื่อกางออกต้องล็อคได้ง่าย ยาว 55 เซนติเมตร ขึ้นไป ห่างจากขอบโถ 15-20 เซนติเมตร
5.มีระบบสัญญาณให้คนภายนอกแจ้งเหตุให้แก่ผู้พิการ และระบบให้ผู้พิการแจ้งเหตุเอง หรือเรียกคนช่วยได้
6.ประตูเป็นบานเลื่อน หรือบานเปิด ต้องเปิดค้าง 90 องศา มีราวจับแนวนอน มีป้ายผู้พิการ

นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการที่มีอยู่ทั่วมหาวิทยาลัยแล้ว Sidewalk Continuous level หรือ ระดับทางเท้า ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังถูกประเมินและจัดไว้ในระดับปานกลาง – สูงสุด ซึ่งหมายความว่าเป็นทางเท้าที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก และมีสิ่งกีดขวางน้อย ลดอุปสรรคในการใช้งานแก่ทั้งผู้พิการ และบุคคลทั่วไป

 
 

มองคนให้ไกลกว่าแค่เรื่อง “เพศ”

  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุน ส่งเสริม และให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายในองค์กร โดยเชื่อว่าการรวมกันของความแตกต่างทำให้เกิดความคิดเห็นในหลายแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน อีกทั้งเคารพในความเป็นปัจเจกบุคคล โดยมองว่าบุคลากรไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรล้วนเป็นคนสำคัญและเป็นบุคลากรที่น่าภาคภูมิใจของจุฬาฯ

     ดังที่จะเห็นได้จากคุณนิล์รุธตรา ช่วยหนู หรือคุณอะตอม บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนที่สะท้อนให้เห็นถึงการพร้อมโอบรับอัตลักษณ์ที่มีความหลากหลายของบุคลากรภายในรั้วจุฬาฯ และแสดงให้เห็นถึงการรับรู้ รับฟัง และปรับเปลี่ยน เพื่อให้บุคลากรของจุฬาฯ สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข

ชื่อ: คุณนิล์รุธตรา ช่วยหนู (อะตอม)
ตำแหน่ง: พนักงานมหาวิทยาลัย
สังกัด: ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์

การเปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีความหลากหลายทางเพศได้แสดงออกถึงตัวตนของตัวเองภายในจุฬาฯ

ตอนเข้ามาเมื่อปี 2545 จุฬาฯ ก็ไม่ได้จะมาสนใจเกี่ยวกับ LGBTQ+ เท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันก็ผ่านมาประมาณ 20 ปี ได้เกิดวงล้อที่ขับเคลื่อนไปมากพอสมควร อย่างคณะรัฐศาสตร์มีความหลากหลายทางเพศเยอะมาก คณะอื่นก็น่าจะเป็นอย่างนั้นด้วย ซึ่งทุกคนก็ออกมาเป็นหน้าเป็นตาในสังคมมากมาย หากเป็นเมื่อก่อนอาจจะไม่สามารถทำได้ มหาวิทยาลัยก็พัฒนาไปตามวงล้อของสังคมทั้งในเรื่องสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ทำให้ไม่ได้รู้สึกว่ากีดกันอะไร

ประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้รับจากการทำงานในจุฬาฯ

ประสบการณ์ดี ๆ สำหรับเรามีตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาเลยคือให้การยอมรับ ไม่ใช่ยอมรับแค่เรื่องเพศที่หลากหลาย แต่ยอมรับความคิดหลากหลายในการทำงาน ทุกอย่างคือ 1) งาน และ 2) ความรับผิดชอบ ถ้าเกิดคุณทำสองอย่างให้ทุกคนยอมรับได้คือจบ ไม่ได้มองว่าเพศอะไร อายุเท่าไร อะไรอย่างนี้ไม่เกี่ยว

 ในส่วนของความประทับใจกับจุฬาฯ ก็คือตอนเราไปร่วมงานเป็นกรรมการฝึกซ้อมบัณฑิตในงานพระราชทานปริญญาบัตร แล้วชื่อในบัตรประจำตัวกรรมการ เขาก็ไม่ได้ใส่คำว่านาย ก็ใส่กระโปรงใส่สูทปกติกัน บางคนอาจจะรู้ว่าเราเป็นหรือบางคนไม่รู้คือเราไม่สนใจ เพราะคิดว่าเรามาทำงาน เรามาเป็นกรรมการฝึกซ้อมบัณฑิต เราแต่งตัวสุภาพตามที่เขากฎระเบียบที่ต้องมีคือถ้าเกิดเราเป็นผู้หญิงเราก็ต้องแต่งกระโปรงอะไรให้เรียบร้อยเหมาะสม จริง ๆ ก็ในทุกสังคม ไม่ใช่แค่ในมหาลัย ถ้าเกิดเรามีความพอดีแล้วก็ปฏิบัติตามระเบียบของเขาเนี่ยเราว่ามันก็โอเค ซึ่งจุฬาฯ เขาก็ให้โอกาสกับทุกคนอยู่แล้ว

ในฐานะที่เป็นตัวแทนของ LGBTQ+ อยากฝากอะไรถึงจุฬาฯ

เราว่าคนเรา ให้มองทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากันก่อน ถ้าคุณมองทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากันอย่างอื่นคือจบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ สวัสดิการ การแต่งงาน วันหยุด

 จากบทสัมภาษณ์ข้างต้น คุณอะตอมถือว่าเป็นอีกหนึ่งเสียงของคนที่มีความหลากหลายทางเพศและบุคลากรในจุฬาฯ ที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรการศึกษาในปัจจุบัน ก็มีการรับฟัง และพร้อมปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ยุคสมัย ให้สมกับที่เป็นสถาบันการศึกษา ทั้งยังสะท้อนว่าสังคมยังพยายามเบนเข็มไปในทิศทางที่เปิดรับความหลากหลายมากขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีการพัฒนานโยบาย ทั้งการประเมินงาน การเลื่อนตำแหน่ง ที่จะไม่มีการนำเพศมาเป็นเกณฑ์สำหรับกำหนดกรอบการทำงานและการประเมิน นอกจากนโยบายที่เกี่ยวกับหน้าที่การงานแล้ว จุฬาฯ ยังคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของบุคลากรเพศหลากหลาย ทั้งการผลักดันสวัสดิการใหม่ ๆ ที่จะช่วยอุดช่องโหว่ของสวัสดิการอื่น ๆ เช่น การเพิ่มสวัสดิการคู่ชีวิตซึ่งเป็นสวัสดิการในรูปแบบของประกันสุขภาพ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนใกล้ชิด หรือคู่รัก (ที่เป็นเพศเดียวกัน) นอกเหนือจากแผนประกันกลุ่มที่มีข้อจำกัดทำให้กลุ่มคนใกล้ชิดไม่สามารถเข้าถึงผลประโยชน์จากประกันได้ และยังมีการผลักดันให้เกิดห้องน้ำที่ใช้ได้ทุกเพศทุกคน (All-gender restroom) ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อผู้ใช้งานและเปิดกว้างครอบคลุมคนในทุก ๆ มิติมากยิ่งขึ้น

เกษียณเกษมสุข (ชีวิตการทำงานในจุฬาฯ จนถึงเกษียณ)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคำนึงถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีแก่บุคลากรยังช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่องค์กร ว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานนั้นจะนำพามาซึ่งประสิทธิภาพในการทำงาน และก่อให้เกิดความผูกพันกับองค์กร เหตุนี้จุฬาฯ จึงมีการวางแผนพัฒนาการดูแลบุคลากร และสวัสดิการต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มทำงานกับจุฬาฯ ระหว่างทำงาน เกษียณ จวบจนหลังเกษียณ ครอบคลุมทุก ๆ ด้าน ให้มั่นใจว่าชาวจุฬาฯ จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงชีวิตอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ข้อความข้างต้นอาจจะไม่สามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจนเท่ากับคนที่ได้ประสบโดยตรง ด้วยเหตุนี้ เราจึงเชิญตัวแทนบุคลากรมาเล่าถึงประสบการณ์ และความประทับใจในการทำงานภายในรั้วจามจุรีมาตลอดอายุการปฏิบัติงานมากกว่าสามสิบปี ตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน จนถึงวันเกษียณ ผ่านคำบอกเล่าของตัวแทนของกลุ่มบุคลากรผู้เกษียณอายุการทำงานในปี พ.ศ.2566 ในตำแหน่งที่แตกต่างกันของบุคลากรจุฬาฯ ประกอบไปด้วย

รศ.ดร.ศิริรัตน์ แอดสกุล

อาจารย์
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์
บรรจุ: วันที่ 11 พฤษภาคม 2535
(อายุงาน 32 ปี)

คุณกเชนทร เอื้อเฟื้อกลาง

เจ้าหน้าที่สำนักงาน
หน่วยงานพัสดุ
คณะแพทยศาสตร์
บรรจุ: วันที่ 17 ตุลาคม 2531
(อายุงาน 34 ปี 11 เดือน)

คุณชัยมงคล บุญเปี่ยม

พนักงานรักษาความปลอดภัย
ศูนย์รักษาความปลอดภัยและจัดการจราจรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรจุ: 1 พฤศจิกายน 2533
(อายุงาน 33 ปี)

ความรู้สึกที่ได้เข้ามาทำงานที่จุฬาฯ

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่ที่จุฬาฯ เกือบ 32 ปีนั้น มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกและมีสถานภาพเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่นี่ การสอนหนังสือนั้นเป็นการให้ความรู้แก่นิสิตให้เป็นบัณฑิตแห่งจุฬาฯ ที่ดีมีคุณภาพ มีคุณธรรม มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามปณิธานของจุฬาฯ คือ การสอนให้เป็นคนที่มีความรู้คู่คุณธรรม

คุณกเชนทร

เราเคยเดินเคยนั่งรถผ่านรั้วจุฬาฯ มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยแรก ๆ ที่เข้ามากรุงเทพฯ ตอนนั้นก็มีความรู้สึกว่าอยากเข้ามาทำงานที่นี่ ดังนั้นตอนที่ได้เข้ามาทำงานครั้งแรกที่คณะแพทยศาสตร์ รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มาทำงานที่จุฬาฯ มาก ๆ ครับ

คุณชัยมงคล

ดีใจครับ อยากทำงานที่นี่เพราะคิดว่าสวัสดิการของมหาวิทยาลัยน่าจะดีกว่าเป็นยามของบริษัทครับ รู้สึกประทับใจและภูมิใจมากครับที่ได้มาทำงานที่จุฬาฯ

สิ่งที่ประทับใจในการทำงานกับจุฬาฯ หรือประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้รับจากการทำงานในจุฬาฯ

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์: การที่เราได้มีส่วนสร้างบัณฑิตที่ดีมีคุณภาพออกสู่สังคม มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ในฐานะที่เป็นอาจารย์มีความภาคภูมิใจที่ลูกศิษย์ทุกคนล้วนเป็นอภิชาตศิษย์ทั้งสิ้น มีความมานะ ขยันหมั่นเพียร เจริญก้าวหน้าและมีพัฒนาการขึ้นอย่างรวดเร็ว

คุณกเชนทร: ภูมิใจกับรางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับมาครับ เรามีโอกาสได้ทำงานให้กับจุฬาฯ ในส่วนรวมนะครับ ก็คืองานกีฬาบุคลากร ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดงต่าง ๆ จนได้รับรางวัล รวมไปถึงโครงการโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์คุณธรรม ก็ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในด้านจิตอาสาในการทำงานโครงการนี้ด้วย และล่าสุดคือการได้รับรางวัลเพชรพัสดุ โดยตอนแรกตนเองก็ไม่คิดว่าได้รับรางวัลนี้ แต่ก็เป็นโอกาสที่ท่านผู้บริหารมองเห็นว่าที่ผมได้ปฏิบัติงานมาโดยตลอดมีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนและควรจะได้รับรางวัลนี้

คุณชัยมงคลรางวัลคนดีศรีจุฬาฯ นี้ภูมิใจมากที่สุดครับ เพราะเป็นรางวัลสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณพอดี ผมก็คิดไว้ว่าผมได้รางวัลนี้ผมก็จะเก็บรักษาความดีนี้ไว้คู่กับชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดไปครับ

สวัสดิการจุฬาฯ ที่ประทับใจที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์: จากบทเพลง “เพชรชมพู” ทำให้นึกถึงประโยคที่ว่า “จุฬาฯของเราให้เราทุกอย่าง” ก็คงเป็นจริงตามนั้น แต่ถ้าให้ตัดสินใจเลือกสวัสดิการเพียงหนึ่งเดียว ขอเลือกเป็นสวัสดิการด้านการศึกษา คือ การให้บุคลากรสามารถนำบุตรเข้าศึกษาได้ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ดีมีมาตรฐานการศึกษา นักเรียนมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่อยู่ในกำกับและการดูแลของคณาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย

คุณกเชนทร: สวัสดิการในเรื่องของบ้านที่อยู่อาศัย จุฬาลงกรณ์ก็มีเงินกู้เพื่อเคหะสงเคราะห์ของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนทุนทรัพย์ในการซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับตนเองและครอบครัว ก็เป็นความภาคภูมิใจ ที่เราได้มีบ้านในทุกวันนี้ก็เพราะจุฬาฯ 

คุณชัยมงคล: สวัสดิการในการสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครับ แต่จริง ๆ ก็มีหลายอย่างครับ โดยเฉพาะสวัสดิการด้านสุขภาพ ช่วยเหลือตอนที่เราเจ็บป่วย ให้เบิกจ่ายได้  ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินสดเยอะ ต่างจากบริษัทอื่น ๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองครับ

สิ่งที่อยากจะฝากถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป หรือบุคลากรรุ่นหลัง

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์: ขอให้ทุกคนจงมีความภาคภูมิใจในการที่ได้โอกาสเข้ามาเป็นบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้ จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย หลายคนที่พอได้ยินว่าเราทำงานที่จุฬาฯ เราเป็นอาจารย์จุฬาฯ เป็นนิสิตจุฬาฯ เขาเหล่านั้นต่างก็บอกว่าดีจัง เก่งจัง ครอบครัวและเครือญาติต่างก็ดีใจและภูมิใจมาก

คุณกเชนทร: การทำงานต้องมีระเบียบวินัยนะครับ เพื่อให้เราทำงานได้ถูกต้องตามระเบียบ คำว่าวินัยทุกคนก็ต้องมีเพื่อที่จะให้งานมีข้อผิดพลาดและเกิดข้อบกพร่องน้อยลง นอกเหนือจากงานที่ปฏิบัติผมก็อยากให้น้อง ๆ มีคำว่า “จิตอาสา” ในการทำงานพวกอย่างเราๆ เจ้าหน้าที่ถ้าพอมีเวลาว่างก็อยากให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งมีส่วนร่วมกับงานหรือโครงการของจุฬาฯ ครับ

คุณชัยมงคล: ก็ขอให้น้อง ๆ ที่ยังทำงานอยู่ ก็อยากให้ตั้งใจทำงานและรักษามาตรฐานการทำงานให้ดีไว้ครับ และก็ให้บริการด้วยใจ ใส่ใจในการปฏิบัติหน้าที่ครับ เดี๋ยวสิ่งดี ๆ ก็จะตามมาครับ

จากบทสัมภาษณ์ข้างต้น คงจะพอทำให้เราเห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนทำงานภายในจุฬาฯ ชัดเจนมากขึ้น มีทั้งส่วนที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกัน และจุดที่รู้สึกแตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน แต่ในทุก ๆ แง่มุม ก็สะท้อนให้เห็นว่าจุฬาฯ ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของบุคลากรจริง ๆ พร้อมปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย และพัฒนาไปควบคู่กัน ทั้งสถาบัน และบุคลากรภายในองค์กรทุกระดับชั้น จุฬาฯ ไม่ได้มองแค่ความสัมพันธ์แบบนายจ้าง ลูกจ้าง แต่ยังมองไปถึงการเสริมสร้างความสุขทั้งทางกาย และความสบายใจของบุคลากรภายในรั้วจามจุรีผ่านสวัสดิการ และการดูแลในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งบทสัมภาษณ์นี้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถยืนยันได้ถึงความผูกพันที่มีต่อองค์กรของตัวแทนบุคลากรทั้งสามท่าน ที่เปรียบดั่งครอบครัวคนสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิทธิในการอุทธรณ์และร้องทุกข์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใส่ใจและดูแลการดำรงชีวิตของบุคคลกรในมหาวิทยาลัยทุกท่าน โดยมหาวิทยาลัยประสงค์ให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข และหากเกิดเหตุใดที่ทำให้พนักงานเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่โปร่งใส่ในกระบวนการดำเนินการใดๆ เช่น ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประเมินผลการปฏิบัติงาน การไม่ต่อสัญญาปฏิบัติงาน การเลิกสัญญาปฏิบัติงาน การถูกลงโทษทางวินัย หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจ อันเนื่องมาจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมมาตรการเกี่ยวกับการอุทธรณ์ร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัยที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และป้องกันการถูกละเมิดของบุคลากรในมหาวิทยาลัย

“ พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิ์ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานได้ ”

โดยมีแนวทางการดำเนินการดังนี้

  • เมื่อพนักงานมหาวิทยาลันเป็นว่าต้นไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจ อันเนื่องมากจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ “คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์การบริหารงานบุคคล” ได้
  • เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว ให้อธิการบดี หัวหน้าส่วนงาน หรือคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว สั่งการและดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น

           อ้างอิง : เป็นไปตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2557  หมวด 11 อุทธรณ์และร้องทุกข์

นอกจากนี้ ในกลุ่มบุคลากรสายวิชาการมหาวิทยาลัยยังส่งเสริมสิทธิ์ในการอุทธรณ์เกี่ยวกับการเสนอขอทบทวนผลงานทางวิชาการสำหรับยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น เพื่อสนับสนุนความเติบโตทางวิชาชีพของบุคคลากร และการต่อสัญญาการปฏิบัติงานพนักงานมหาวิทยาลัยในกรณีที่ผลงานของบุคลากรท่านนั้นอยู่ระหว่างการยื่นเสนอขอผลงานทางวิชาการ ซึ่งกระบวนการดำเนินการมีขั้นตอน ดังนี้

กระบวนการดำเนินการอุทธรณ์เกี่ยวกับการเสนอขอทบทวนผลงานทางวิชาการ
สำหรับยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น

Copyright © 2025 Office of Human Resources Management, Chulalongkorn University. All Rights Reserved.

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

เราจะใช้คุกกี้เมื่อท่านได้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ โดยคุกกี้ที่จำเป็นต่อการทำงานของเว็บไซต์ ท่านไม่สามารถปิดการใช้งานของคุกกี้ประเภทนี้ผ่านระบบของเว็บไซต์ได้ สำหรับคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อพัฒนาเว็บไซต์และเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่จำเป็นคือสิ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ ทำให้คุณสามารถใช้งานและเรียกดูเว็บไซต์ได้ตามปกติ คุณไม่สามารถปิดการใช้งานคุกกี้เหล่านี้ในระบบของเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อให้เราสามารถวัดผล ประเมิน ปรับปรุง และพัฒนาเว็บไซต์ของเรา เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของท่าน

บันทึกการตั้งค่า